วันอาทิตย์ที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2556

ศาสตราภิชาน ดร.สมคิด (ผมอยากให้เกิดสักที)


ศาสตราภิชาน ดร.สมคิด เริ่มต้นกล่าวว่า สถานการณ์ประเทศในขณะนี้ ไม่ได้มีแค่ปัญหาเศรษฐกิจเฉพาะหน้า คิดว่าปัญหาในปัจจุบันอยู่ในวิสัยที่สามารถบริหารจัดการได้ หากกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย มีความร่วมแรงร่วมใจ ความสามัคคีกัน เชื่อว่าทุกปัญหาไม่น่าจะเหลือบ่ากว่าแรง
ผมได้กล่าวกับโปรเฟสเซอร์ชาวต่างชาติ ซึ่งเป็นอาจารย์ของผมว่าขณะนี้ ประเทศไทยอยู่ในแผนพัฒนาฉบับที่ 11 หากใช้มาตรวัดสากล นับว่าไทยก้าวมาไกลา มีจีดีพีกว่า 10 ล้านล้านบาท และมีรายได้ต่อหัวเฉลี่ย 5 พันเหรียญ ต่อหัวต่อคนต่อปี มีเงินเฟ้อไม่เกิน 4 % คาดว่าปีหน้าอัตราการเจริญเติบโตจะเป็น 56% และคาดว่าไทยจะสามารถเป็นฮับของอาเซียนได้
แต่ภาพนั้นเป็นคนละภาพกับที่ผมรู้สึกอยู่ในใจ...
ประเทศไทยที่ผมสัมผัสมาตลอด ทั้งที่อยู่ในระบบและติดตามอยู่ข้างนอก ผมว่าประเทศไทย เหมือนภาพวาดสีน้ำมันของโมเนต์ ที่มองไกลๆ จะดูดี แต่ถ้าดูใกล้ๆ จะมีความพร่ามัว เลอะเทอะ เปรอะเปื้อน แต่ประเทศไทยไม่ใช่ภาพ...
"ความเลอะเทอะ พร่ามัวในบางจุด นานๆ เข้าจะสะสม ถ้าไม่แก้ไข ก็จะบ่มเพาะเป็นเชื้อโรค เชื้อร้ายที่วันข้างจะนำประเทศไปสู่ความเสื่อมถอยในที่สุด แม้เศรษฐกิจไทยจะยืนยัดได้ด้วยจีดีพี ที่คาดว่าจะเติบโตได้ถึง 5-6% แต่ลึกๆ แล้วอนาคตข้างหน้า ไม่ง่ายที่จะรักษาให้เศรษฐกิจยั่งยืนได้ตลอด"
ประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศกว่า 30-40 ล้านคนอยู่ในภาคเกษตร ที่ยังไม่มีการปฏิรูป ปรับปรุงเทคโนโลยีและจัดการอุปสงค์ อุปทาน จึงสร้างผลผลิตได้เพียงร้อยละ 10 เท่านั้น เกษตรกรจึงเคลื่อนย้ายมาภาคอุตสาหกรรม ที่ตลอด 30 ปีที่ผ่านมา สินค้าได้กำไรต่ำ อาศัยแรงงานค่าจ้างราคาถูก เมื่อไม่สามารถจ่ายค่าจ้างแพงได้ จึงเกิดนโยบายค่าแรง 300 บาท ซึ่งก็ดี แต่ต้องทำควบคู่ไปกับการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน ไม่อย่างนั้นเอกชนก็จะหาวิธีลดคนงาน หรือลดค่าใช้จ่าย
ท้ายที่สุดผลร้ายก็จะตกอยู่กับแรงงานตามเคย...
ประเทศไทยถูกจัดลำดับให้เป็นประเทศที่มี "ความไม่เท่าเทียม" กันมากที่สุดในโลก คน 20% ระดับบนควบคุมอำนาจแทบทั้งหมด ส่วนคนระดับล่างมีอำนาจเพียง 20% เท่านั้น นั่นหมายถึง ความมั่งคั่งกระจุกอยู่ในฐานแคบๆ ไม่ทั่วถึง จึงมีการพัฒนาให้เกิดความเท่าเทียม ทั้งจัดการศึกษา สาธารณะสุข และสวัสดิการ อย่างไรก็ตามอัตรางบประมาณในแต่ละปีมีไม่เพียงพอ อีกทั้ง มีรายจ่ายเพิ่มขึ้นทุกปี ยิ่งในอนาคตผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นทวีคูณ จึงมีความจำเป็นต้องเริ่ม "ปฏิรูปการคลัง" ตั้งแต่วันนี้
เรื่องการคลังไม่ใช่แค่อัตราดอกเบี้ย ปัญหาอยู่ที่ระบบซ้ำซ้อน ตัวใครตัวมัน เมื่อใช้งบประมาณมากขึ้น งบที่ลงไปกับการศึกษา สาธารณสุขและสวัสดิการก็น้อยลง ความเท่าเทียมไม่มีทางเกิดขึ้นแน่นอน เมื่อไม่มีการจัดการศึกษา สาธารณสุขและสวัสดิการ ทรัพยากรบุคคลก็ต่ำเตี้ย อัตราการซื้อจะลดลง กระทบต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจแน่นอน
เมื่ออัตราการซื้อน้อยลง เสี่ยงมากที่จะเกิด "นโยบายประชานิยม" เช่นในลาตินอเมริกา ด้วยความรู้สึกว่าไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่ ทำให้สังคมเริ่มปฏิเสธระบบ เริ่มไปอยู่ตามท้องถนน และพึ่งพานอกระบบมากขึ้น
"เราไม่ลงแรงกับการสร้างอนาคต ไม่เน้นสิทธิที่ประชาชนควรจะได้ แต่เราเลือกเดินเส้นทางตามประเทศที่เคยล้มเหลวมาแล้ว เป็นเส้นทางแห่งผลประโยชน์ ต้องการประโยชน์เฉพาะหน้า เพราะสิ่งที่ดีทำยาก"
ทางที่จะช่วยกระจายรายได้ คือ พัฒนาชนบท กระจายความเจริญสู่ภูมิภาค ให้เกิดเมืองใหญ่ในแต่ละภูมิภาค แต่ที่ผ่านมายังไม่เกิด เนื่องจากเป็นการต่อสู้เรื่องอำนาจ ไม่มีใครยินยอมปล่อยอำนาจออกจากส่วนกลาง ทุกอย่างจึงกระจุกตัวอยู่ที่กรุงเทพ
เมื่อมองอนาคตข้างหน้า AEC กำลังจะเกิดขึ้น ไม่ใช่แค่ตลาดใหญ่ขึ้น หัวใจสำคัญอยู่ที่ทุกอย่างจะเข้ามาในประเทศ เพราะไม่มีกำแพงภาษี มีการเคลื่อนย้ายแรงงาน ประเทศไทยมีสาธารณูปโภคสำหรับนวัตกรรมในอนาคตหรือไม่ เพื่อสานต่อ supply chain เมื่อลองเทียบกับมาเลเซีย ที่อิงกับ Economic Forum 12 เสา ไทยชนะแค่ 2 เสา คือ โครงสร้างพื้นฐาน และตลาด ที่เหลือเราแพ้หมด ค่าแรงราคาถูกก็จะได้เปรียบอีกไม่นาน จะมีปัญหาต่อการลงทุนในภายภาคหน้า เพราะธุรกิจไทยที่พึ่งแรงงานมาก สิ่งที่ทำได้ คือ 1.ลดต้นทุนให้ต่ำที่สุด 2.ย้ายฐานการผลิต ไปลาว กัมพูชา หรือเวียดนาม 3.ต้องมีดีไซน์ ปรับคุณภาพให้ดีขึ้น
สิ่งที่จะเกิดขึ้น คือ แรงงานราคาถูกจะมาทดแทนแรงงานไทย แต่เราต้องการแรงงานค่าแรงสูงและมีทักษะดี ฉะนั้น หากเราไม่แก้ไข ในอนาคตเรื่องการลงทุนเราจะมีคำถามเกิดขึ้นมากมาย โดยที่ยังไม่นับรวมเรื่องการเมือง
"แค่เรื่องพลังงาน พม่าจะปิดซ่อมท่อก๊าซ กระทบการใช้ไฟฟ้าในไทย ภาคใต้ 10 ปีแล้ว ไม่มีใครรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ทุกอย่างเป็นความลับ นี่คือสิ่งที่ฝังอยู่ใต้คำว่า GDP 5% เงินเฟ้อไม่เกิน 4% และหนี้สาธารณะไม่เกิน 40%"
ที่กล่าวมาข้างต้น แค่เรื่องเศรษฐกิจ...
หันมาดูเรื่องการเมือง การเลือกตั้ง เพื่อให้นักการเมืองเป็นตัวแทนประชาชนไปใช้อำนาจทางบริหาร แต่กลายเป็นว่า เมื่อเลือกตั้งจบอำนาจประชาชนก็จบ นักการเมืองจะแบ่งอำนาจกัน เมื่อตนเองไม่ได้ตำแหน่งก็มีนอมินี เช่นนี้แล้ว ความรับผิดชอบจะอยู่ตรงไหน สิ่งที่จะเป็นปัญหาในอนาคต คือการฟาดฟันกันระหว่างการเมือง มีผลให้การแต่งตั้งทางการเมือง ไม่เกี่ยวกับใครเก่ง-ใครดี ดูแค่ "ใครพวกใคร" ระบบราชการก็ต้องเลื้อยตามความต้องการทางการเมือง ทำให้ภาวะสมรรถนะบกพร่องทั้งประเทศ ความเข้มแข็งของประเทศและธรรมาภิบาลจะค่อยๆ ด้อยลง ความเชื่อถือของประเทศจะน้อยลง ศักยภาพคนในประเทศจะน้อยลง ทั้งๆ ที่เรามีฐานะไม่แพ้ใครเลย
เศรษฐกิจ สังคม และการเมืองไทยที่เป็นเช่นนี้ ต้องแก้ให้ได้ ไม่อย่างนั้นอนาคตจะถอยหลังอย่างแน่นอน ถามว่าว่าคนที่รับผิดชอบคือใคร คนส่วนใหญ่จะชี้ไปที่การเมือง หรือรัฐบาล แต่ประชาธิปไตยที่แท้จริงต้องยืนอยู่บน 3 ขา คือ การเมือง เอกชน และประชาชน แต่ภาคประชาชนเราไม่เข้มแข็ง ประชาชนด่า เบื่อการเมือง แต่ไม่ทำอะไร รอแต่รัฐบาล ฝากทหาร ฝากเทวดา แต่ไม่เคยมองตัวเอง...
ผมอยากให้ดูแบบประเทศเกาหลีใต้ ที่ส่วนหนึ่งเจริญเพราะนโยบายที่เฉียบแหลม และภาคประชาชนมีความเข้มแข็งมาก มีการพัฒนาชุมชน ตรวจสอบการเมืองท้องถิ่น แนะนำนโยบายให้ภาครัฐ เมื่อเกิดการคอร์รัปชั่นก็รวมตัวกัน ในการเลือกตั้งใครถูกแบล็กลิสต์สอบตกหมด ซึ่งเป็นเหตุผลที่รัฐมนตรีเกาหลีใต้ถึงกับฆ่าตัวตาย
ส่วนประเทศอินโดนีเซีย หลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจมีการปฏิรูปครั้งใหญ่ทางการเมือง เกิดการกระจายอำนาจ ปฏิรูประบบการคลังและระบบราชการ ทำให้อินโดนีเซียเป็นประเทศยักษ์ใหญ่แห่งเอเชีย หันกลับไปมองฟิลิปปินส์ หลายสิบปีที่ผ่านมา ก็มีภาคประชาชนที่เข้มแข็งที่สุดในเอเชีย สามารถโค่นล้มประธานาธิบดีหลายๆ คนได้ และวันนี้ ช่วยกันผลักดันให้เศรษฐกิจเดินหน้า
ฉะนั้น หากภาคประชาชนเข้มแข็ง ภาคการเมืองก็จะดีตาม เพราะจะมีการตรวจสอบ แนะนำโครงการดีๆ ให้กับรัฐบาล แต่เมืองไทยสิ่งเหล่านี้นิ่งมาก มีน้อยมาก แต่ก็มีข้อดีอยู่อย่าง คือ มันเริ่มแล้ว เช่น องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น
ท้ายที่สุด...สื่อมวลชน คือ "หัวใจสำคัญ" ที่ทำให้ภาคประชาชนตื่นตัว สื่อจะทำอย่างไรให้สังคมที่เริ่มไขว้เขว กลับมามีสติว่าจะใช้ชีวิตอย่างไร ครอบครัวจะเป็นอย่างไร การเมืองดีที่ควรจะเป็นอย่างไร ผมเชื่อว่าจิตวิญญาณของสื่อมีอยู่สูง แต่ขณะเดียวกันก็ต้องบาลานซ์กับความอยู่รอด ถ้าสื่อเข้มแข็ง จะเกิดการการก่อตัวของภาคประชาสังคมเพื่อถ่วงดุลรัฐบาล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น